วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550

ความหมายของสุนทรียศาสตร์

สุนทรียศาสตร์ มาจากภาษาสันสฤตว่า “ สุนทรียะ ” แปลว่า “ งาม ” และ “ ศาสตร์ ” แปลว่า “ วิชา ” เมื่อรวมความแล้วจึงแปลได้ว่า “ วิชาที่ว่าด้วยสิ่งสวยงาม ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Aesthetics” (เอ็ซเธทถิกส์) โดยศัพท์คำนี้เกิดจากนักปรัชญาเหตุผลนิยมชาวเยอรมันชื่อ โบมกาเต้น ( Alexander Gottlieb Baumgarten ) ซึ่งสร้างคำจากภาษากรีกคำว่า “Aisthetikos” (อีสเธทิโคส) แปลว่า “ รู้ได้ด้วยผัสสะ ”
ความงามอาจเป็นสิ่งลึกซึ้งที่มีอยู่ในทุกสิ่ง อาจจะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรืออาจจะเป็นคุณสมบัติในทางศีลธรรม หรือสิ่งที่โน้มน้าวใจให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม ความงามอาจมีอยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาเอง ทั้งสิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ
ศัพท์ Aesthetics ในภาษาอังกฤษกำหนดไว้ให้หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยศิลปะโดยทั่วไป อาจแบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้
• ประวัติศาสตร์ศิลปะ ( History of Art )
• ศิลปวิจารณ์ ( Criticism of Art )
• ทฤษฎีศิลปะ ( Theory of Art )
• จิตวิทยาศิลปะ ( Psychology of Art )
• สังคมวิทยาศิลปะ ( Sociology of Art )
• ปรัชญาศิลปะ ( Philosophy of Art )
เกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ คืออะไร ?
การตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ คือ การที่เราใช้จิตแสดงปฏิกิริยาต่อสภาพการณ์ในสิ่งแวดล้อม หรือการที่จิตประเมินค่าวัตถุที่มีคุณค่า ที่เร้าให้เกิดความรู้สึกภายในจิตใจ แม้ว่าความงามจะขึ้นอยู่กับจิต แต่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตามใจชอบ หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณค่าที่มีอยู่ในวัตถุนั้น ๆ ด้วย
มุมมองทางความคิดของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน หลากหลายออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ๆ ว่าใช้อะไรเป็นหลักในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ และการตัดสินทางสุนทรียศาสตร์ก็สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มแนวคิด ดังนี้
1. กลุ่มที่ใช้ตนเองเป็นตัวตัดสิน
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ อัตนัยนิยม ” ( Subjectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า ความรู้ ความจริงและความดีงามทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีความจริงในตัวเอง หากแต่เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ในทางความรู้ ความจริงและความดีงามนี้จึงไม่มีอยู่จริง มนุษย์เท่านั้นที่มีอยู่จริงและจะเป็นตัวตัดสิน พร้อมทั้งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา มนุษย์แต่ละคนต่างมีมาตรวัดความจริงต่างกันออกไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด เกณฑ์การตัดสินแบบนี้สามารถทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองได้ แต่หากความรู้สึกเชื่อมั่นนี้มีมากจนเกินไปอาจจะส่งผลทำให้เราเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลต่อไปคือ ทำให้เรามีโลกทัศน์ที่แคบ และเดียวดายในโลกกว้างนี้ นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มโซฟิสต์ ( Sophist ) ฮอบส์ ( Hobbes ) และออร์เตกา ( Ortega ) เป็นต้น
2. กลุ่มที่เชื่อว่า มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวที่จะใช้ตัดสินได้
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ ปรนัยนิยม ” ( Objectivism ) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่า มีเกณฑ์มาตรฐานตายตัวแน่นอนในทางศิลปะ ซึ่งสามารถนำไปตัดสินผลงานได้ในทุกสมัย เกณฑ์มาตรฐานนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกใครหรือศิลปินคนไหน กลุ่มนี้มีความเชื่ออีกว่า สุนทรียธาตุมีอยู่จริง แม้ว่าเราจะเข้าถึงมันไม่ได้ก็ตาม แต่มันก็มีอยู่จริง และด้วยเหตุผลนี้ การที่เราตัดสินศิลปะออกมาไม่เหมือนกันก็เพราะเราแต่ละคนไม่สามารถเข้าถึงสุนทรียธาติที่แท้จริงได้หรือตัวจริงมาตรฐานนั่นเอง การที่เราจะเข้าถึงเกณฑ์มาตรฐานนี้ได้นั้น เราจำเป็นต้องฝึกพัฒนาจิตให้สมบูรณ์จนสามารถเห็นความงามมาตรฐานได้ บางคนอาจทำสมาธิ บางคนอาจฝึกฝนทางศิลปะจนชำนาญ เป็นต้น นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ พลาโต ( Plato )
อริสโตเติล ( Aristotle ) และเฮเกล ( Hegel ) เป็นต้น
3. กลุ่มที่เชื่อว่า หลักเกณฑ์ในการตัดสินสุนทรียศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม
เรียกเกณฑ์ตัดสินนี้ว่า “ สัมพัทธนิยม ” ( Relativism ) เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคล้ายกับกลุ่มอัตนัยนิยม แต่ต่างกันตรงที่กลุ่มสัมพัทธนิยมนั้นมีความเชื่อว่า กฎเกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น หรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ตลอดจนดิน ฟ้า อากาศของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์ เพราะผู้วิจารณ์จะต้องวางตัวเป็นกลางและต้องสำนึกอยู่ในใจเสมอว่า ตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม ดังนี้แล้ว เกณฑ์ตัดสินทางสุนทรียศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมบ้าง ตามสภาพของภูมิอากาศ ภูมิประเทศนั้น ๆ บ้าง แล้วแต่สภาวะแวดล้อมจะพาไป นั่นเอง นักสุนทรียศาสตร์ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ซานตายานา ( Santayana ) และแซมมวล อาเล็กซันเดอร์ ( Samuel Alexander ) เป็นต้น

ที่มา : วนิดา ขำเขียว. สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ : พรานนกการพิมพ์, 2543.


ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก


นางสาวพัชรินทร์ นะสีโต นักศึกษาพยาบาลศาสตรต่อเนื่องรุ่นที่16